ชัวร์ก่อนแชร์ : ยาสีฟันที่มีไตรโคลซานอันตราย จริงหรือ ?


บนสื่อสังคมออนไลน์แชร์ข้อความเตือนให้ระวังสาร “ไตรโคลซาน” ในยาสีฟัน เสี่ยงเป็นอันตรายต่อตับและไต จริงหรือ ?

🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ศ.ทพ.ดร.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ สาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชีย ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เรื่องสารไตรโคลซาน (Triclosan : TCS) ในยาสีฟันที่แชร์กันไม่เป็นความจริง เพราะว่าสารไตรโคลซานที่ห้ามกันนั้น เฉพาะในสบู่ล้างมือ

สาเหตุที่ห้ามไตรโคลซานเพราะไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าสบู่ล้างมือที่มีไตรโคลซาน และสบู่ล้างมือแบบไม่มีไตรโคลซาน ไม่พบว่ามีประสิทธิภาพแตกต่างกัน

มีการศึกษาในสัตว์ทดลอง พบว่า ถ้าใช้ปริมาณมากก็จะมีผลตามนั้นจริง

ณ ปัจจุบัน ปริมาณที่ใช้อยู่ยังไม่มีการศึกษาฉบับใดบอกว่ามีอันตราย ทำให้เกิดภาวะเช่นนั้น

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาใหม่ที่แย้งการศึกษาเดิม ทำการศึกษาในสัตว์ทดลอง เพื่อดูว่าส่งผลต่อต่อมไทรอยด์ การทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ ซึ่งก็พบว่าไม่มีผล

ทุกวันนี้ สารไตรโคลซานที่เป็นองค์ประกอบของยาสีฟันสามารถใช้ได้ และไม่มีการศึกษาใดที่พบว่าไตรโคลซานเป็นอันตรายต่อมนุษย์

ไตรโคลซานมีประโยชน์อะไรบ้าง ?

“ไตรโคลซาน” เป็นลิขสิทธิ์ของยาสีฟันยี่ห้อหนึ่ง มีผลต้านเชื้อแบคทีเรีย และมีการทดลองพบว่า ไตรโคลซานช่วยลดอาการเหงือกอักเสบได้จริง

การแปรงฟันถูกวิธี อย่างน้อย 3 นาทีต่อครั้ง ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน เลือกแปรงฟันด้วยยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ทุกครั้ง ก็สามารถป้องกันฟันผุและป้องกันเหงือกอักเสบได้อยู่แล้ว

นอกจากนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องหายาสีฟันที่มีสารไตรโคลซานมาใช้ ยกเว้นทันตแพทย์วินิจฉัยว่าอาจมีภาวะเหงือกอักเสบ

นอกจากยาสีฟันผสมฟลูออไรด์จะช่วยป้องกันฟันผุได้แล้ว การแปรงฟันถูกวิธีก็มีความสำคัญมาก ๆ เช่นกัน

กลไกการแปรงฟันที่สำคัญก็คือ การกำจัดคราบจุลินทรีย์ออกจากฟันและบริเวณซอกฟัน

การแปรงฟันที่ถูกวิธี จะช่วยกำจัดคราบจุลินทรีย์ แบคทีเรียต่าง ๆ ช่วยรักษาสุขภาพของฟันและช่องปากได้

1. วางแปรงให้ขนแปรงเข้าหาคอฟัน ขยับแปรงไปมาในแนวนอน 10 ครั้ง (ปัดขึ้นในฟันล่าง และปัดลงในฟันบน)

2. ทำซ้ำตำแหน่งเดิม 1-2 ครั้ง เลื่อนไปทำตำแหน่งอื่นจนครบทุกด้าน รวมถึงด้านบดเคี้ยวของฟันทุกซี่

3. ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง (เช้าและก่อนนอน) ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์

4. ควรแปรงลิ้นร่วมกับการแปรงฟันด้วยทุกครั้ง

การทำความสะอาดซอกฟัน

โรคปริทันต์ที่รุนแรงมักเกิดบริเวณซอกฟัน ซึ่งแปรงไม่สามารถเข้าไปทำความสะอาดได้ จึงมักมีผู้ป่วยเป็นโรคปริทันต์ ทั้ง ๆ ที่แปรงฟันอย่างดี แต่มิได้ทำความสะอาดซอกฟัน การทำความสะอาดซอกฟันมีหลายวิธีซึ่งต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับสภาพเหงือกของแต่ละคน

การใช้เส้นไหมขัดฟัน (Flossing) เป็นวิธีทำความสะอาดซอกฟันที่ดีวิธีหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อมีเหงือกปกติ มีเหงือกสามเหลี่ยมอยู่เต็มระหว่างซอกฟัน ไม่มีเหงือกร่น ควรใช้เส้นไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

ไหมขัดฟันแบบเคลือบขี้ผึ้ง (Waxed) ใช้กับฟันที่สัมผัสกันไม่แน่นมาก

ไหมขัดฟันแบบไม่เคลือบขี้ผึ้ง (Unwaxed) เหมาะสำหรับฟันที่สัมผัสกันแน่นมาก และเริ่มใช้ครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แบบมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันถ้าใช้อย่างถูกต้อง แต่การใช้เส้นไหมขัดฟันที่ไม่ถูกต้องจะทำอันตรายต่อเหงือก

ปกติเส้นไหมขัดฟันไม่ควรขาดขณะใช้ แต่ถาเส้นไหมขาดอยู่เสมอบริเวณใด แสดงว่าฟันที่อุดไว้บริเวณนั้นมีปัญหา ควรรีบแก้ไข

วิธีใช้เส้นไหมขัดฟัน ดึงเส้นไหมออกมายาว 12-15 นิ้ว พันปลายยึดไว้กับนิ้วกลาง 2 ข้าง จนกระทั่งเหลือความยาวของเส้นไหมระหว่างนิ้วกลางทั้งสองประมาณ 4-5 นิ้ว ใช้นิ้วชี้หรือนิ้วหัวแม่มือเป็นนิ้วควบคุมบังคับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถนัด

การใช้เส้นไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันแต่ละตำแหน่งในช่องปาก เริ่มต้นด้วยการดึงเส้นไหมให้ตึง ค่อย ๆ ถูไปมาให้ผ่านจุดสัมผัสของฟัน ห้ามใช้แรงกดผ่านจุดสัมผัสโดยตรง เพราะอาจยั้งมือไม่อยู่และบาดเหงือกได้

เมื่อผ่านจุดสัมผัสเข้าไปอยู่ระหว่างฟันสองซี่แล้ว โอบเส้นไหมให้แนบกับด้านข้างของฟันซี่หนึ่ง ใช้นิ้วบังคับให้เส้นไหมขัดจากขอบเหงือกมาด้านบดเคี้ยวแล้วกลับมาวางตั้งต้นที่ขอบเหงือกใหม่ ก่อนที่จะขัดไปทางด้านบดเคี้ยวอีกครั้งหนึ่ง ทำเช่นนี้ซ้ำฟันจำนวน 6 ครั้ง

วัตถุประสงค์ที่ให้เส้นไหมโอบฟัน เพื่อให้แรงถ่ายทอดลงบนตัวฟันโดยตรง ไม่ไปบาดเหงือกและเพื่อให้เส้นไหมครอบคลุมพื้นที่ได้มาก เมื่อขัดด้านข้างของฟันซี่หนึ่งเสร็จแล้วจึงหันมาโอบด้านข้างของฟันอีกซี่หนึ่ง ขัดเหมือนเดิม 6 ครั้ง ทุกซอกฟันจะต้องขัดทั้ง 2 ด้านด้วยกัน ด้านข้างของฟันซึ่งปราศจากซี่ข้างเคียงก็ควรต้องขัดเช่นเดียวกัน

มีบางคนใช้เครื่องจับเส้นไหมสำเร็จ (FlossHolder) แทนการพันนิ้วมือ แต่ผลการใช้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากไม่สามารถโอบรอบซี่ฟันทำให้บาดเหงือกเป็นร่องได้ การใช้นิ้วมือมีประสิทธิภาพดีกว่ามากถ้าใช้ถูกวิธี

สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์

เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล

ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ยาสีฟันที่มีไตรโคลซานอันตราย จริงหรือ?



ดูข่าวเพิ่มเติม





Source link