สมาคมทันตกรรมฯ ยัน‘ฟลูออไรด์’ มีประโยชน์มากกว่าโทษ ชี้ต้องได้รับปริมาณมากจึงจะอันตราย



สมาคมทันตกรรมแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงหลังมีความกังวลเรื่องโทษของฟลูออไรด์ เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ โดยยืนยันฟลูออไรด์มีประโยชน์มากกว่าโทษ ช่วยป้องกันฟันผุ เผยจะอันตรายก็ต่อเมื่อ เด็กเล็กทานยาสีฟันเข้าไปคราวเดียวทั้งหลอดหรือในจำนวน 40 กรัม

วันนี้ (2 ก.พ.) เพจ“สมาคมทันตกรรมแห่งประเทศไทย“ ได้ออกมาโพสต์ระบุข้อความว่า “มีความกังวลเรื่องโทษของฟลูออไรด์ เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ ก่อนจะกังวล เราควรศึกษาให้รู้จริงว่าคืออะไร โดยแทบทุกอย่างในโลกนี้ ถ้ามีมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ก็อาจทำให้เกิดโทษ ซึ่งบางอย่างต้องใช้เวลาในการศึกษาหลายๆ ปีกว่าจะรู้

สำหรับฟลูออไรด์ มีการนำมาใช้และศึกษามากกว่า 100 ปี พ้น generation หนึ่งของคนแล้ว เราจึงรู้จักฟลูออไรด์ดีพอ ที่จะนำมาใช้ให้ได้ประโยชน์ในการป้องกันฟันผุ โดยไม่เกิดโทษของมัน ปริมาณที่แนะนำให้ใช้ในยาสีฟัน ตามภาพ เป็นปริมาณที่ปลอดภัย และห่างไกลปริมาณที่ทำให้เกิดโทษ ใช้ตามที่แนะนำช่วยป้องกันฟันผุได้ค่ะ

แล้วปริมาณเท่าไรที่ทำให้เกิดโทษ (toxicity) มาดูกันชัดๆ โดยโทษของฟลูออไรด์ มี 2 แบบ

1.แบบฉับพลันทันที เมื่อได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณมาก คือ 5mg/kg ขึ้นไป จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง และคำว่า 5 mg/kg คือ ปริมาณเท่าไร

สมมุติเด็กอายุ 6-12 เดือน หนัก 8 kg (คิดจากเด็กเล็กสุด น้ำหนักน้อย เพื่อคำนวณปริมาณต่ำสุด ที่จะเกิดโทษนะคะ)
ปริมาณที่ทำให้เด็กน้ำหนัก 8 kg คลื่นไส้อาเจียน = 40 mg Fluoride ยาสีฟัน 1000 ppm แปลว่า ใน 1 g. ของยาสีฟัน มี ฟลูออไรด์ 1 mg. นั่นคือ เด็กเล็กต้องบีบยาสีฟันออกมา 40 กรัม และทานเข้าไปทั้งหมดในคราวเดียว ถ้าเป็นหลอดขนาด 40 g คือบีบกินทั้งหลอด (ยาสีฟันเด็ก 1 หลอดมีขนาด 40,60,80 กรัม ยาสีฟันผู้ใหญ่ หลอดใหญ่ 1 หลอดมี 160 กรัม) เราจึงแนะนำให้เก็บยาสีฟันห่างจากมือเด็ก และให้ผู้ใหญ่บีบยาสีฟันให้เด็กตามปริมาณที่แนะนำเสมอ

โทษจากการได้รับสะสม หากได้รับฟลูออไรด์เกิน 0.05-0.07 mg/kg ต่อวัน เป็นระยะเวลาหนึ่งจะทำให้ฟันตกกระ ที่เรียกว่า fluorosis

สมมุติเด็กอายุ 6-12 เดือน หนัก 8 kg (คิดจากเด็กเล็กสุดเช่นเดิม ถ้าเป็นเด็กโตขึ้น ปริมาณก็เพิ่มขึ้นตามน้ำหนัก) ปริมาณที่ทำให้เกิด fluorosis ได้ = 0.4 mg Fluoride ทานเข้าไปทุกวัน จากคำแนะนำในภาพ เด็กอายุน้อยกว่า3 ปี ให้ใช้ยาสีฟันแค่แตะแปรงพอเปียก มีปริมาณฟลูออไรด์ 0.1 mg ต่อครั้ง การแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ก็ยังคงน้อยกว่าปริมาณที่ทำให้เกิดฟันตกกระได้ และเมื่อผู้ปกครองเช็ดยาสีฟันหลังแปรงฟัน ก็ยิ่งเหลือในช่องปากลูก น้อยมากๆ ที่ไม่ทำให้เกิดโทษ แต่ยังได้ประโยชน์จากฟลูออไรด์ค่ะ เด็กโตขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น ยิ่งปลอดภัยขึ้น เพราะปริมาณที่เริ่มทำให้เกิดโทษ ก็มากขึ้นตามน้ำหนัก เมื่อเด็กควบคุมไม่กลืนยาสีฟันได้ ก็ใช้ปริมาณยาสีฟันเพิ่มขึ้นได้ และยังปลอดภัย

อาจเคยได้เห็นข้อความที่แชร์ต่อๆกันมาว่า ฟลูออไรด์มีผลต่อไอคิว ซึ่งเมื่อหมอไปหาดูบทความต้นเรื่อง เป็นรายงานถึงหมู่บ้านในเมืองจีนที่ประชากรมีไอคิวต่ำ และพบว่ามีฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำสูงมาก ถึง 3-5 mgขึ้นไป/ลิตร ซึ่งในการศึกษานั้นก็ไม่ได้มองดูปัจจัยอื่นๆ อีก พื้นที่ที่มีแร่ฟลูออไรด์ในธรรมชาติสูงก็อาจจะมีแร่ตะกั่วหรือโลหะหนักอื่นๆอยู่สูงด้วย ซึ่งโลหะหนักเหล่านี้ก็มีผลต่อสมองได้

อย่างไรก็ตาม มีการวิจัยในส่วนของฟลูออไรด์ว่า ปริมาณเท่าใดที่จะมีผลต่อพัฒนาการของสมอง พบว่า สำหรับเด็กอายุ 7 เดือน – 4 ปี ต้องได้รับในปริมาณที่เกิน 1.6 – 3.2 mgต่อวัน เป็นระยะเวลาหนึ่ง
(เด็กโตขึ้นปริมาณที่ทำให้เกิดโทษได้ ก็เพิ่มขึ้น) ซึ่งที่หมู่บ้านในประเทศจีนนั้น หากเด็กดื่มน้ำวันละ 1 ลิตร ก็อาจจะได้รับถึง 3-5 mg มีผลต่อสมองได้

แต่ประเทศไทยเราไม่มีแร่ฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำสูงขนาดนั้น ยิ่งกรุงเทพฯและปริมณฑล มีน้อยกว่า 0.3 mgต่อลิตร เด็กน้อยต้องดื่มน้ำวันละ 5-10 ลิตรกันเลย ซึ่งเป็นไปไม่ได้

จะมีแต่ภาคเหนือและตะวันตกของประเทศไทย ที่มีแร่ฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่ปริมาณสูงกว่า 0.7 mgต่อลิตร
แต่ก็ยังเป็นปริมาณที่ปลอดภัยต่อสมอง
และประเทศไทยก็ไม่ได้เติมฟลูออไรด์ในน้ำประปาให้ประชาชนด้วย

ส่วนปริมาณยาสีฟันที่เราใช้สำหรับเด็กเล็ก วัยก่อน 3 ขวบ ที่กังวลว่าจะกลืนเข้าไปนั้น แนะนำให้ใช้ปริมาณเท่าเมล็ดข้าวสาร มีฟลูออไรด์เพียง 0.1 mg/ครั้ง ห่างไกลปริมาณที่จะมีผลต่อสมองมากนักค่ะ

ส่วนเด็กโตควบคุมไม่กลืนยาสีฟันได้ ให้ใช้ปริมาณมากขึ้น ตามภาพ ฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุได้จริง ทุกท่านใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ ตามปริมาณที่แนะนำได้อย่างสบายใจนะคะ คือ เด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 6 ปีใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ 1000 ppm ปริมาณ แบ่งตามช่วงอายุ
-เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ ใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ 1500 ppm ค่ะ
-เด็กที่อายุ น้อยกว่า 6 ปี ที่มีความเสี่ยงฟันผุสูง (ซึ่งประเมินโดยทันตแพทย์) อาจได้รับคำแนะนำให้ใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์ 1500 ppm โดยใช้ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของทันตแพทย์นะคะ

ทันตแพทย์ก็ใช้ยาสีฟันฟลูออไรด์แปรงฟันทุกวัน และให้ลูกและคนในครอบครัวใช้ตามคำแนะนำในภาพนี้เช่นกัน”



Source link