พระสมเด็จจิตรลดา พ.ศ.2512 พระเครื่องทรงค่า ที่สร้างขึ้นจากฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 9

พระสมเด็จจิตรลดา พ.ศ.๒๕๑๒ ในรัชกาลที่ ๙ ของคำรณ สัยยะนิฐี.
ก้าวเข้าสู่อาทิตย์สุดท้ายของเดือน ๙ กันแล้วนะท่านผู้ชม วันนี้ขบวนพระเครื่องสนามพระวิภาวดี นำมาโดย พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เกศบัวตูม วัดใหม่อมตรส แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ จาก เสี่ยพรรค คูวิบูลย์ศิลป์ ซึ่งเป็น ๑ ในชื่อเซียนพระที่ยอมรับว่าเล่นพระดี
อย่างองค์นี้ก็ใช่ชัวร์ และยังเป็นพระแท้ดูง่าย สภาพสวย สมบูรณ์ มีริ้วรอยผ่านการลอกเก็บคราบกรุอย่างรู้วิธีรักษา โดยเปิดเห็นพิมพ์องค์พระที่ผ่านการสัมผัสใช้ เห็นเนื้อในที่ละเอียดแน่น มีมวลสารครบสูตร “เนื้อจัด” แบบพระกรุเก่า
เป็นพิมพ์ที่สายอนุรักษ์ ซึ่งอยากเก็บพระแบบครบพิมพ์ อยากได้ แต่พระมีขึ้นจากกรุไม่มาก ทำให้ราคาสูง
ตรงนี้ขอแทรกตอบคำถามสนามพระ นิดนึง จากแฟนคลับชื่อ “มือใหม่หัดส่อง” อยากรู้เกร็ดประวัติของ วัดบางขุนพรหม

ในอดีตเป็นวัดใหญ่ สร้างขึ้นปลายสมัยกรุงธนบุรี ประมาณ พ.ศ.๒๓๒๑ เดิมมีหลายชื่อ เช่น วัดอำมาตยรส วัดอมฤตรส แต่ชาวบ้านเรียก “วัดบางขุนพรหม” ซึ่งมีโยมอุปัฏฐากสำคัญคือ เสมียนตราด้วง (ต้นตระกูลธนโกเศศ) ที่อาราธนา สมเด็จโต วัดระฆังฯ มาสร้างพระบรรจุกรุไว้
สมัย รัชกาลที่ ๕ มีการตัดถนนวิสุทธิกษัตริย์ผ่านกลางวัด จึงแยกวัดบางขุนพรหมเป็น ๒ ฝั่ง คือ วัดบางขุนพรหมใน (วัดใหม่อมตรส) ซึ่งพระเจดีย์ กรุพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม ติดอยู่ฝั่งนี้ และ วัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหาร) ที่ประดิษฐานพระหลวงพ่อโตยืน องค์ใหญ่
ตอนเปิดกรุเป็นทางการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ พบว่าพระส่วนมากแตกหัก มีขี้กรุจับแข็งแน่น ราคาเช่าแบบไม่สวยๆ ๓๐๐-๕๐๐ บาท องค์สวยๆ ๓-๔ พันบาท แต่ก็ได้รับความนิยม จนเล่ากันว่าต้องจับสลาก ว่าใครจะได้องค์ไหน

ไปต่อองค์ที่สองกัน คือ พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่ม วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งเป็นศิลปะพุทธศิลป์สมัยอู่ทองยุคปลาย จึงลดความเข้มขรึมลงจาก พิมพ์หน้าแก่ พุทธศิลป์สมัยอู่ทองยุคต้น และ พิมพ์หน้ากลาง สมัยอู่ทองยุคกลาง
แต่ทุกพิมพ์มีฟอร์มองค์สามเหลี่ยมยอดตัด ด้านข้างมีริ้วรอย “ตอกตัด” ด้านหลังส่วนใหญ่มีรอยกดลายนิ้วหัวแม่มือ ที่มีพบทั้งแบบ ๑.ลายก้นหอย ๒.ลายมัดหวาย ลายนิ้วมือจมลึกเข้าเนื้อ
ผิวมีคราบฝ้า “ราดำ” ขึ้นจับแน่น บอกอายุความเก่าถึงยุคอย่างเป็นธรรมชาติ อย่างที่มีเห็นอยู่มากในพระองค์นี้ ซึ่งเป็นจุดพิจารณาสำคัญ
กรุพระค้นพบตอนชาวจีนเข้าไปหักล้างถางพงจนเจอองค์พระเจดีย์ จึงลักลอบขุดองค์พระเจดีย์ นำสมบัติเครื่องทองล้ำค่า พระพิมพ์ พระพุทธรูป ออกไป
พระเครื่องส่วนใหญ่เป็นเนื้อชิน เช่น พระกำแพงศอก พระกำแพงคืบ พระกำแพงนิ้ว พระสุพรรณหลังผาล พระปทุมมาศ พระมเหศวร และอื่นๆ
มี พระผงสุพรรณ ที่เป็นพระเนื้อดินซึ่งเดิมเรียก พระเกสรสุพรรณ ตามเนื้อพระ และ จารึกลานทอง บอกว่าทำจาก เนื้อดินผสมว่านยาเกสรดอกไม้
ตอน ร.๖ เสด็จประพาสเมืองสุพรรณ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ นายอี้ กรรณสูต เจ้าเมืองสุพรรณ ซึ่งเปิดกรุเป็นทางการ นำสมบัติในกรุขึ้นมารักษา ได้นำพระขึ้นถวาย และพระราชทานข้าราชบริพารและชาวบ้าน เมื่อผู้คนใช้บูชาก็ปรากฏอานุภาพด้านคุ้มครองป้องกันภัยจนเป็นที่ร่ำลือ
ในอดีตนิยมพระพิมพ์หน้าแก่ แต่ยุคหลังหน้าแก่หายากและแพงสุดๆ จึงหันมาหาพระพิมพ์รองๆ อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยจักร์กริช ทรัพย์ไพศาล ที่สวยเด็ด
รู้ไว้ใช่ว่า สำหรับ ตอก ก็คือ ไม้ไผ่ที่เหลาบางๆแทนมีด สมัยก่อนใช้ตัดขอบพระ เรียกว่า ตอกตัด

ตามมาด้วย พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ เนื้อเขียว วัดนางพญา อ.เมือง จ.พิษณุโลก เป็นพระองค์งาม สภาพแชมป์ หูตากะพริบ ของ เสี่ยวีระชัย ไชยเจริญ ซึ่งกำลังฮอต มีใบสั่งสู้ราคาสูง เทียบได้กับพระพิมพ์ใหญ่สภาพรองๆ
อีกรายการเป็น พระรอด พิมพ์ตื้น กรุวัดมหาวัน อ.เมือง จ.ลำพูน ๑ ใน ๕ พิมพ์พระมาตรฐาน สกุล “พระรอด” ที่มีค้นพบเพียงแห่งเดียว จากกรุวัดมหาวัน ไม่มีพบอยู่ปนรวมกับพระร่วมสกุลในกรุอื่นใดเลย

แยกพิมพ์มาตรฐานได้ ๕ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์ใหญ่ ๒.พิมพ์กลาง ๓.พิมพ์เล็ก ๔.พิมพ์ต้อ และ ๕.พิมพ์ตื้น ซึ่งถูกจัดลำดับความนิยมไว้สุดท้าย เพราะเห็นว่าพิมพ์พระตื้นกว่าทุกพิมพ์ เช่น ซุ้มปรกโพธิ์ ใบจะเล็ก และติดตื้นกว่าพิมพ์อื่นๆ องค์พระช่วงเอวก็ติดตื้นจนกลืนไปกับผิวองค์พระ
มีจุดตำหนิ แยกเป็นพิมพ์ย่อยได้ ๒ บล็อก คือ ๑.พิมพ์บล็อกแตก มีเส้นแตกที่พระกรรณซ้ายวิ่งยาวไปถึงกลีบใบโพธิ์ กับ ๒. บล็อกไม่มีเส้นแตก
องค์นี้ของ เสี่ยปรีดา คูวิบูลย์ศิลป์ สภาพงามสมบูรณ์เดิมๆ มีรารักดำขึ้นจับแน่นเข้าผิวเนื้อเป็นแผ่นหนา บอกอายุความเก่าพันปีอย่างเป็นธรรมชาติ

ต่อด้วย พระบาง เนื้อเขียว กรุวัดดอนแก้ว อ.เมือง จ.ลำพูน อีกหนึ่งขุนพลพระสกุลลำพูน ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายไล่เรียงมากับพระรอดพระคง พระเลี่ยง พระลบ พระลือ พระเปิม พระลือโขง ซึ่งได้ชื่อยกย่องเป็น “นพรัตน์มณีศรีหริภุญไชย”
องค์นี้ ของ เสี่ยตะวัน พระสกุลลำพูน เป็นพระสภาพสมบูรณ์สวยแชมป์ สีเนื้อเขียวยอดนิยมหายากสุดๆ ราคาค่าตามสภาพน่าจะอยู่ที่หลักแสนปลายๆถึงหลักล้านแล้ว
ถัดไปคือ พระสมเด็จจิตรลดา พ.ศ.๒๕๑๒ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพล อดุลยเดช ร.๙ จัดสร้าง ณ สวนจิตรลดา เขตดุสิต กรุงเทพฯ และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ถวายนามพระว่า “พระกำลังแผ่นดิน”
เป็นพระเครื่องทรงค่า ที่สร้างขึ้นจากฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ร.๙ ตั้งแต่กำหนดแบบพิมพ์ รวบรวมมวลสาร กดพิมพ์พระ ตกแต่ง อธิษฐาน และพระราชทานจากพระหัตถ์พร้อมใบประกาศ
ทรงเริ่มสร้างในปี พ.ศ.๒๕๐๘-๒๕๑๓ เป็นพระพิมพ์รูปทรงสามเหลี่ยม เนื้อเรซินผสมมวลสารมงคล ด้านหน้าเป็นรูปองค์จำลองพระพุทธนวราชบพิตร (หลวงพ่อจิตรลดา) ประทับนั่งปางสมาธิ เหนือบัว ๙ กลีบ
ด้านหลังเรียบ (มักมีทองคำเปลวปิดทับ) ราคาปัจจุบันอยู่ที่หลักล้าน มากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพ อย่างองค์นี้ ของ เสี่ยคำรณ สัยยะนิฐี ที่ให้ภาพมาพร้อมคำบรรยายว่า “งามไม่มีที่ติ” แปลว่า ต้องหลายล้านแน่

รายการต่อไป เป็น พระกริ่ง ๗๙ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) วัดสุทัศน์เทพวราราม เสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ ทรงสร้างขณะดำรง สมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต ตามคำร้องขอคณะศิษย์ ที่ให้ อ.นิรันดร์ แดงวิจิตร ไปปรึกษา ร.อ.ขุนอนุการณกิจ ศิษย์ใกล้ชิดสมเด็จฯ ว่าอยากได้พระกริ่ง–พระชัยวัฒน์ จากพระหัตถ์สมเด็จฯ จึงชวนกันทูลขอ ซึ่งสมเด็จฯก็ประทานอนุญาต
โดยกำหนดให้ทุกคนจองได้ ๑ องค์ มีเงื่อนไขว่าผู้สั่งจองต้องหาเงินพดด้วงตรายันต์ หรือตราราชวัตร มาคนละ ๑ บาท เพื่อหลอมผสมเป็นเนื้อพระ พร้อมเงินค่าจ้างช่างหล่ออีกคนละ ๑ บาท ส่วนโลหะแร่ธาตุส่วนผสมอื่นและค่าใช้จ่ายในการพิธี สมเด็จฯท่านทรงพระ เมตตาเป็นเจ้าภาพให้ ก็มีผู้สั่งจอง ๔๖๔ องค์
ในวันพิธีเททองหล่อ ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๑๒ อันเป็นวันครบรอบพระชนม์ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๙ มี พระมงคลราชมุนี (ผึ่ง ปุปฺผโก) ขณะดำรงสมณศักดิ์พระราชาคณะที่ พระญาณโพธิ์ ได้ขออนุญาตสร้าง พระชัยวัฒน์ ร่วมหล่อในพิธี จำนวนกว่า ๓๐๐ องค์
โดยใช้เนื้อโลหะ ที่เป็นชนวนสร้างพระกริ่ง ครั้งสมเด็จฯทรงสมณศักดิ์ที่ “พระธรรมโกษาจารย์” ทุกรุ่น ซึ่งเก็บรักษาไว้มาหล่อ โดยไม่ต้องใช้โลหะอื่น และแยกเบ้าหลอมโลหะจากเบ้าหลอมพระกริ่ง
ปัจจุบันเป็นพระกริ่งในสมเด็จฯ ที่ได้รับความนิยมสูง เพราะพิมพ์พระที่มีเอกลักษณ์ และเนื้อโลหะที่เข้มข้นเป็นพิเศษและ มีอานุภาพเลื่องลือครอบจักรวาล
สำหรับองค์งามสมบูรณ์เดิมๆ ราคามากล้านอย่างองค์นี้ เจ้าของคือ เสี่ยอิทธิ ชวลิตธำรง ซึ่งไม่เคยยั่นราคา จนเป็นนักสะสมแถวหน้า ที่มีความรู้ระดับมืออาชีพ จากการศึกษาก่อนซื้อสะสม

สุดท้ายเป็นเหรียญรุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๘๐ เนื้อทองแดง กะไหล่เงิน หลวงพ่อฉิ่ง วัดบางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี อมตะพระเกจิฯผู้มีชื่อเสียงด้านวิชาอาคมเข้มขลังอีกรูปหนึ่งของเมืองชลฯ
ท่านเป็นชาวเมืองชลฯ เกิด พ.ศ.๒๓๙๔ อุปสมบท พ.ศ.๒๔๑๘ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดสว่างอารมณ์
ท่านมีเมตตาบารมีสูง เชี่ยวชาญในวิชาพุทธาคมแพทย์แผนโบราณ รักษาโรค ผู้โดนพิษเงี่ยงปลากระเบนเกี่ยว ซึ่งชาวเลสมัยนั้นนิยมนำมาใช้เป็นอาวุธ ใช้เงี่ยงปลากระเบนติดปลายไม้เป็นอาวุธทำร้ายกัน ใครโดนเงี่ยงเกี่ยวเข้าเนื้อจะเจ็บปวดมาก จะดึงออกเงี่ยงก็ยิ่งย้อนเข้าเนื้อฉีก
ต้องไปหา หลวงปู่ฉิ่ง เอาเงี่ยงปลาออกให้ โดยใช้เชือกผูกติดกับขี้ผึ้งปั้นรูปช้าง เอาปลายเชือกไปผูกกับเงี่ยงปลา เสกคาถาเป่าเงี่ยงปลาก็หลุดออก
ท่านมรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๘ รวมอายุ ๖๔ ปี ๔๐ พรรษา ตลอดอายุสร้างพระเครื่องของขลังไว้ไม่มาก ที่มีชื่อเสียงได้รับความนิยมสูงสุดก็เป็นเหรียญรุ่นแรก ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ ที่เป็นเหรียญสภาพสมบูรณ์สวยแชมป์ ที่หาเหรียญสู้ยากด้วยกะไหล่เดิมๆ แบบเต็มร้อยจริงๆ
ลาเดือน ๙ ด้วยเรื่องปิดท้าย ในร้านกาแฟบ้านน้ำมนต์ ซึ่งนักนิยมพระสายมู ทั้งมืออาชีพ มือสมัครเล่นมาพูดคุยกันเป็นประจำ
วันก่อน บอมเบย์ มืออาชีพ พระเครื่องสายเมืองสุพรรณ ที่มักมาเป็นตัวยืน บอกกับสมาชิกว่า ขอไปทำธุระส่วนตัว ๒-๓ วัน ทุกคนก็คาดว่าคงไปเจอ “รังพระ” ที่ไหนถูกใจเข้า ก็บอกต่อกันว่าให้รอดู
เซียนบอม หายเงียบไปเกือบอาทิตย์ก็โผล่มาพบพรรคพวก แต่หน้าตาดีขึ้นทุกคนจึงทักว่า ได้พระดีมีเสน่ห์อะไรมาใช้แทนองค์เก่าหรือถึงหล่อเอาเรื่องกว่าเดิม
เซียนบอม ยิ้มแฉ่ง เอามือคลำพระในคอตอบว่า ผมก็ใช้ พระชัยวัฒน์ หลวงพ่อเนียม องค์เดิมแหละเพ่
แต่ที่หน้าตาดูดีขึ้น เพราะไปทำศัลยกรรม เอากระดูกซี่โครงมาเสริมจมูก ดั้งเลยโด่ง หล่อขึ้น เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.